เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) ทางเลือก ทางรอดของเกษตรกรไทย

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญมาก เนื่องจากภูมิประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการทำการเกษตรกรรม และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นยุคของการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ทิ้งวิถีชีวิตการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หันมาทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต สารเคมีเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการทำลายหน้าดินทำให้ดินเสื่อมสภาพ คุณภาพดินลดลงเรื่อยๆ หากต้องการปริมาณผลผลิตเท่าเดิม ต้องใช่สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ดินเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น

โดยประเทศไทยมีมูลค่าการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่สูงนับหมื่นล้านบาท และสารเคมีที่ใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแม้จะสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก แต่รายได้สุทธิของเกษตรกรกลับลดลง เนื่องจากปัจจัยการผลิตเหล่านี้เป็นต้นทุนหลักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเกษตรกร ประกอบกับราคาสินค้าภาคเกษตรในตลาดโลกตกต่ำเนื่องภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในสภาพที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนยากจะหลุดพ้นวังวนของความยากจน

ในยุคปัจจุบันที่กระแสความตื่นตัว ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงได้รับความสนใจ และการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการทำเกษตรอินทรีย์นั้น เกษตรกรผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่หน่วยงานรับรองใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจรับรองผลผลิต โดยในการกำหนดมาตรฐานผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะมาจาก เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการในด้านต่างๆ

รวมทั้ง การทำเกษตรอินทรีย์จะต้องเอื้อต่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อย่างจริงจัง การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์นั้น ในแต่ละมาตรฐานอาจกำหนดระยะเวลาแตกต่างกันออกไป ช่วงระยะปรับเปลี่ยนนี้อาจใช้เวลาตั้งแต่ 12 – 36 เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละมาตรฐาน ในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างสมดุลของทรัพยากรในระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายของชนิดทรัพยากรไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และพืช ในด้านสุขภาพก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงของสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับพืชและสัตว์ และที่สำคัญเกษตรอินทรีย์ ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แม้จะมีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วไปก็ตามและในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังได้ร่วมกันผลักดันด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เช่น การจัดตั้งสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ทั้งระบบ โดยมีการส่งเสริมทั้งในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากนักวิชาการในด้านต่างๆและจากปราชญ์ชาวบ้าน ในพื้นที่ ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร หรือการใช้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท.(Organic Agriculture Certification Thailand – ACT ) ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และสามารถแยกแยะความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ของเกษตรอินทรีย์ กับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีนโยบาย การตลาดเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เช่น ร้านเลมอนฟาร์ม และผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เล็งเห็นแนวโน้มและทิศทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ จึงเริ่มวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น อาทิ Top Supermarket , Food Land ทิศทางของตลาดสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของไทย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยตลาดในภูมิภาคยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับแรก รองลงมาคืออเมริกาเหนือ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกตามลำดับ
สุเพียงเพ็ญ ศิริสุวรรณ

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น